ดร.เฉลิมชัย เปิดเวที TCAC 2024 “เร่งเปลี่ยนผ่าน สานพลังภาคี สู่สังคมที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ”
วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 หรือ Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024 ภายใต้แนวคิด “เร่งเปลี่ยนผ่าน สานพลังภาคี สู่สังคมที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ Accelerating the Climate Transition” โดยมีคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมการประชุม รวมทั้ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดย นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ TGO ร่วมรับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณจาก ดร.เฉลิมชัยฯ รมว. ทส. ในฐานะองค์กรภาคีสนับสนุนการจัดงานประชุม TCAC 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน Sustainability Expo (SX)
ดร.เฉลิมชัยฯ รมว. ทส. กล่าวว่า “จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าแผนงานและมาตรการที่ทั่วโลกดำเนินการอยู่ในขณะนี้ สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2.5 – 2.9 องศาเซลเซียส ในขณะที่เป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีสต้องควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งมั่นที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากสถานการณ์ที่อุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้วยเหตุนี้ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition จำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันออกไป และมีการบูรณาการดำเนินงานในหลากหลายมิติ เช่น การศึกษาพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน การเสริมสร้างองค์ความรู้และศักยภาพของผู้ส่วนเกี่ยวข้องให้มีความพร้อม รวมไปถึงภาคการเงินการลงทุนที่นำไปสู่กิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่มีความยั่งยืน”
“ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 พร้อมการบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ให้ได้ร้อยละ 40 จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 จึงต้องอาศัยทั้งกลไกการดำเนินงานภายในประเทศ เทคโนโลยี การเงิน ตลอดจนกลไกสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและบูรณาการ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วางแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และบูรณาการแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเข้าสู่ระดับพื้นที่ อีกทั้งได้ริเริ่มให้จังหวัดจัดทำบัญชีการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของจังหวัด ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นแกนกลางในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจและความตระหนักให้กับทุกภาคส่วน”
ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า “ในการประชุม TCAC 2024 ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงทิศทางและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการเตรียมการตั้งรับ ปรับตัว การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ระดับนโยบาย สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่การยกระดับการเตือนภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ อีกทั้งยังเป็นเวทีสะท้อนให้กับเครือข่ายประชาสังคม และเยาวชน รวมถึงมีการแสดงนิทรรศการให้ความรู้ ทั้งการดำเนินนโยบายของรัฐ เทคโนโลยีและงานวิจัยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกการเงิน โครงการความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี และที่สำคัญนิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ซึ่งหลังจากการประชุม ประเทศไทยจะนำผลลัพธ์ของการประชุม TCAC 2024 ไปประกาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือ COP 29 ในเดือนพฤศจิกายนนี้”
“การประชุม TCAC 2024 นี้ จะเป็นการจุดประกาย และส่งต่อเจตนารมณ์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย และรักษาโลกใบนี้ไว้ให้กับอนุชนรุ่นต่อไป